สุดขีดจำกัดของงานภาพ สัมภาษณ์ตากล้องจากนิตยสารเทเลบิคุง ในกองถ่ายริวโซลเจอร์

“นากามูระ โทโมยูกิ” ชายผู้คร่ำหวอดกับงานถ่ายภาพในวงการโทคุซัทสึมาอย่างยาวนาน โดยเจ้าตัวเป็นตากล้องประจำนิตยสารเทเลบิคุง และวันนี้จะมานั่งคุยกับเขาเกี่ยวกับเบื้องหลังจากซีรีส์ล่าสุดที่ได้ร่วมงานด้วย “คิชิริวเซนไตริวโซลเจอร์”

เป็นคนจิบะโดยกำเนิด เกิดเมื่อปี 1980 จบจากวิทยาลัยการถ่ายภาพญี่ปุ่น และเข้าทำงานกับบริษัททีวีโตเกียวตั้งแต่ปี 2004 หลังจากนั้นไม่นานก็ได้ร่วมงานในวงการโทคุซัทสึกับตำแหน่งตากล้องประจำนิตยสาร หน้าที่หลักคือการถ่ายภาพจากกองถ่าย และกล้องคู่ใจในมือที่จะใช้ในงานนี้ “Sony α7R III”

α7R III,FE 100-400mm F4.5-5.6 GM OSS 148mm,F13,1/640,ISO1000
  • การถ่ายภาพนิ่งจากกองถ่ายมีเคล็ดลับอย่างไรบ้างครับ?

โดยปรกติแล้วการถ่ายภาพนิ่งจะเน้นไปที่เนื้อหาหลักที่เกิดขึ้นในการถ่ายทำครับ สิ่งที่สำคัญคือเราต้องเป็นหนึ่งเดียวกับทีมงานทุกคน เพราะจังหวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นถ้ามีอะไรมารบกวน ทุกอย่างก็จะเสียระบบไป เช่นเรื่องของตำแหน่งภาพ มุมกล้อง หรือแม้แต่เสียงชัตเตอร์ที่อาจจะลั่นออกมาจนทำให้นักแสดงเสียสมาธิได้

การถ่ายภาพนิ่งจากงานโทคุซัทสึจะยุ่งยากกว่าเล็กน้อยตรงที่บางฉากจะใช้กล้องถึงสามตัวด้วยกัน การเลือกตำแหน่งที่ดีที่สุดในการถ่ายภาพจึงเป็นเรื่องยาก ผมจึงต้องมีสคริปต์ของนักแสดงไว้ในมือเพื่อดูว่าซีนไหนจะเหมาะที่สุดในการลั่นชัตเตอร์

อย่างเช่นฉากด้านบนนี้ องค์ประกอบหลักที่จำเป็นต้องใช้คือสปีดชัตเตอร์ความเร็วสูง ซึ่งช่วงที่ปรากฏนั้นเร็วมาก ผมกดชัตเตอร์แบบคอนตินิวเพื่อเลือกภาพที่ดีที่สุดออกมาครับ

α7R III,FE 24-105mm F4 G OSS 24mm,F13,1/400,ISO250
  • เรียกได้ว่าไม่มีเวลาขอถ่ายภาพนิ่งเลยสินะครับ

ตอนสั่งคัทก็พอได้ถ่ายบ้างครับ แต่เมื่อสั่งคัททุกอย่างมันจะเกิดขึ้นเร็วมาก ทั้งช่างแต่งหน้า ตากล้อง ฝ่ายจัดแสง ผู้กำกับ ต่างก็จะรีบเปลี่ยนมุมหรือเปลี่ยนสคริปต์เพื่อเตรียมที่จะเข้าสู่ฉากต่อไป ภาพหมู่ด้านบนนี้เองก็ใช้เวลาถ่ายเพียง 1 – 2 นาทีเท่านั้น

  • โทคุซัทสึเต็มไปด้วยฉากแอคชั่น การถ่ายภาพประเภทนี้เป็นงานที่ยากไหมครับ?

ฉากแอคชั่นโดยส่วนมากจำเป็นต้องถ่ายแบบกดชัตเตอร์ค้างหรือแบบคอนตินิวครับ แต่จากใจจริงผมอยากได้แบบ Single Shot มากกว่า ทว่าในการถ่ายภาพที่ต้องอาศัยช่วงเวลาสำคัญด้วยแล้ว การถ่ายภาพเพียงช็อตเดียวถือว่าเสี่ยงเป็นอย่างมาก ยิ่งเป็นฉากต่อสู้ที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้น การถ่ายแบบคอนตินิวจะทำให้เราเลือกภาพที่ดีที่สุดออกมาได้ และด้วยพลังของ α7R III นั้นตอบโจทย์ความต้องการของผมเป็นอย่างดี

α7R III,FE 24-105mm F4 G OSS 43mm,F5.6,1/500、ISO20000

เช่นภาพด้านบนนี้ ผมอัดสปีดความเร็วสูง และสามารถดันค่า ISO ได้ถึง 20000 ซึ่งปรกติผมเองใช้มากที่สุดแค่ 12000 เท่านั้นเอง ขนาดว่าสปีด 1/500 ภาพที่ได้ยังชัดเจนไร้ Gain แตกขนาดนี้ การทำงานก็เลยลดความเสี่ยงลงไปได้มากโขเลยครับ

α7R III,FE 24-240mm F3.5-6.3 OSS 98mm,F5.6,1/200,ISO16000

ส่วนภาพนี้ในสถานที่จริงก็ค่อนข้างจะมืดเล็กน้อย แถมยังเต็มไปด้วยฝุ่นอีกต่างหาก ผมพยายามจะไม่เปลี่ยนเลนส์ระหว่างซีนนี้เพื่อเลี่ยงปัญหาฝุ่นเข้าตัวเซนเซอร์ แต่เพราะเลนส์ FE 24-105mm และ FE 100-400mm ก็ทำให้ได้ภาพมุมกว้างที่สวยงามโดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนเลนส์บ่อยครั้งให้ยุ่งยากเลย

α7R III,FE 24-105mm F4 G OSS 105mm,F8,1/1000,ISO3200
  • ฉากระเบิดแบบนี้สุดยอดไปเลยนะครับ

ตอนที่ถ่ายฉากนี้ผมเลือกการถ่ายแบบคอนตินิวออโต้โฟกัส เพื่อรักษาความต่อเนื่องของภาพ ซึ่งภาพที่ปรากฏออกมามีความคอนทราสในตัวสูงมาก ผมพยายามโฟกัสที่ตัวบุคคลให้มากที่สุด เพราะฉากนี้จะถ่ายเพียงครั้งเดียวหรือพยายามถ่ายให้ได้น้อยที่สุดเพื่อความปลอดภัย

α7R III, FE 24-240 mm F3.5-6.3 OSS 103 mm, F 7.1, 1/320 sec, ISO 1000
  • ฟีเจอร์ตัวไหนจากกล้องที่เลือกมาใช้บ่อยที่สุดครับ?

ภาพข้างบนนี้ผมไม่ได้ถ่ายด้วยการมองวิวไฟน์เดอร์เลยนะครับ เพียงเปิดออโต้โฟกัสแล้วกดแชะเลย งานภาพที่ออกมาค่อนข้างนิ่งมากและโฟกัสไปที่หน้าของตัวละครพอดี ถ้าให้ตอบคงเป็นโหมดออโต้นั่นล่ะครับ (หัวเราะ)

α7R III,FE 24-105mm F4 G OSS 39mm,F8,1/800,ISO320
  • ตั้งแต่ถ่ายมา ชอบภาพไหนที่สุดครับ?

ภาพข้างบนนี้ล่ะครับ ถ่ายย้อนแสงขนาดนี้ผมคิดว่าจะมืดไปหมดซะแล้ว แม้แต่รีเฟลกที่ทีมงานยิงสะท้อนไปก็อาจจะช่วยอะไรไม่ได้ แต่พอเห็นงานออกมากลับดีกว่าที่คาดเยอะเลย

α7R III,FE 100-400mm F4.5-5.6 GM OSS 238mm,F8,1/640,ISO5000
  • รู้สึกว่าท้าทายไหมครับกับงานที่เต็มไปด้วยอุปสรรคขนาดนี้?

สุด ๆ ครับ อย่างภาพนี้เป็นซีนที่ตัวเอกปล่อยพลังจัดการตัวร้ายแล้วไฟจะพุ่งออกมาสามมุม โดยทั่วไปช่างภาพจะเลือกเลนส์ไวด์ในฉากระเบิด แต่ผมเลือกที่จะใช้เลนส์ FE 100-400mm เพียงตัวเดียวในการถ่าย ทุกอย่างออกมาดูเพอร์เฟค ทั้งมุมตัวละคร ไฟที่อยู่บนฉากหน้า ลมที่พัดเปลวไฟให้ดูมีชีวิตชีวา รู้สึกว่าเป็นภาพที่เท่อย่างบอกไม่ถูก

α7R III,FE 24-240mm F3.5-6.3 OSS 66mm,F6.3,1/250,ISO4000
  • อะไรคือสิ่งที่ต้องระวังกับการทำงานแบบนี้ครับ?

ต้องจำไว้เสมอครับว่างานนี้จะลงในนิตยสารสำหรับเด็ก งานภาพต้องดูเท่ มีพลัง ผมจึงพยายามเก็บภาพแบบมุมต่ำให้ได้มากที่สุด เพราะเหล่าฮีโร่ที่มองจากมุมต่ำขึ้นไปจะดูทรงพลังเป็นอย่างมากครับผม

https://www.sony.jp/ichigan/a-universe/news/313/