Dark Tourist in Japan ตามรอยสามพื้นที่ท่องเที่ยวสายมืดในแดนอาทิตย์อุทัย

ถ้าคุณมีความคิดที่จะไปท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น โปรแกรมหลักที่คุณวางไว้ ผมขอเดาว่าคงหนีไม่พ้นการเที่ยวชมธรรมชาติที่สวยงาม การรับประทานอาหารที่เต็มไปด้วยความพิถีพิถัน การได้ปลดปล่อยความเมื่อยล้าจากภาระการงานด้วยการแช่บ่อน้ำพุร้อน หรือถ้าคุณชื่นชอบในวัฒนธรรมบันเทิงของญี่ปุ่น เช่น อนิเมะ เกม ไอดอล หรืออะไรก็ตามแต่ แผนการท่องเที่ยวของคุณก็อาจจะมีสิ่งเหล่านี้เข้ามาปนบ้างไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่กับระดับความคลั่งไคล้ของคุณ แล้วถ้าเกิดว่า ประเทศนี้มีสถานที่ที่เคยประสบโศกนาฏกรรมอย่างรุนแรงไว้รอให้คุณไปเยือน คุณจะกล้าไปหรือเปล่า?

เดวิด แฟริเออร์ ผู้ดำเนินเรื่องของภาพยนตร์สารคดีชุด Dark Tourist

Dark Tourist เป็นภาพยนตร์ชุดประเภทสารคดีที่ฉายทาง Netflix เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ปี 2018 ที่ผ่านมา ดำเนินรายการโดย เดวิด แฟริเออร์ นักข่าวหนุ่มชาวนิวซีแลนด์ ซึ่งในแต่ละตอน เดวิดก็จะเดินทางไปยังภูมิภาคต่างๆ เพื่อสำรวจสถานที่ท่องเที่ยวหรือเทศกาลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความน่ากลัวและอันตรายทุกรูปแบบ หรือที่เรียกง่ายๆว่า “การท่องเที่ยวสายมืด” (Dark Tourism) และญี่ปุ่นก็ถือว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เดวิดได้เดินทางมาเพื่อการท่องเที่ยวสายมืด โดยเนื้อหาจะอยู่ในตอนที่ 2 ของภาพยนตร์ชุดเรื่องนี้

เมืองโทมิโอกะ จังหวัดฟุกุชิมะ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ประสบภัยจากกัมมัตภาพรังสีตกค้าง

ทริปในประเทศญี่ปุ่นของเดวิดได้เริ่มต้นที่จังหวัดฟุกุชิมะ ซึ่งเป็นจังหวัดที่ประสบเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2011 จนทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไดชิระเบิดขึ้นมา เรียกได้ว่านอกจากตึกรามบ้านช่องจะถูกทำลายด้วยภัยธรรมชาติแล้ว พื้นที่เหล่านี้ยังถูกฉาบไปด้วยสารกัมมันตภาพรังสีอีกต่างหาก ถึงแม้ว่าพื้นที่บางส่วน ทางรัฐจะประกาศว่าสามารถกลับมาอาศัยได้แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีใครกล้ากลับมาอยู่ดี ซึ่งสารกัมมันตภาพรังสีในอากาศที่อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยสำหรับการอยู่อาศัยควรจะอยู่ที่ 0.2 หน่วย แต่เมืองโทมิโอกะ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นพื้นที่ที่สึนามิเข้ามาไม่ถึงก็ตาม แต่ก็ได้รับผลกระทบจากเมฆรังสีจนกลายเป็นเมืองร้างไร้ผู้คน และแน่นอนว่าเป็นพื้นที่ที่ทางรัฐประกาศแล้วว่าปลอดภัย แต่เมื่อวัดค่ารังสีในอากาศ(ในขณะที่ภาพยนตร์ชุดเรื่องนี้กำลังถ่ายทำ)ก็พบว่ามันสูงถึง 0.7 หน่วยเข้าไปแล้ว จึงทำให้ผมเกิดคำถามในใจแล้วว่า นี่คือปลอดภัยแล้วเหรอ? ทำไมรัฐถึงกล้าบอกกับสาธารณชนว่ามันสามารถกลับมาอาศัยอยู่ได้แล้ว?

กัมมันตภาพรังสีในอากาศบริเวณเมืองโทมิโอกะสูงถึง 0.7 หน่วย

ซึ่งโยซัง ที่เป็นไกด์พาเดวิดเที่ยวในฟุกุชิมะได้บอกว่า ในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงแรก ทางรัฐได้กำหนดเกณฑ์ของค่ารังสีในอากาศที่สามารถอาศัยอยู่ได้ขั้นต่ำให้อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดก่อน เพื่อความปลอดภัยของประชากรและสิ่งมีชีวิต ซึ่งระดับความปลอดภัยจริงๆอาจจะสูงกว่านี้ก็ได้ อีกประการ ถ้าจะให้แน่ใจว่าพื้นที่ทั้งหมดจะสามารถกลับมาอยู่อาศัยได้จริงๆโดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารังสีในอากาศ ต้องใช้เวลากว่า 200 ปี ถึงจะกลับมาสู่สภาพเดิม

ท่ามกลางซากปรักหักพังที่เกิดจากแผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2011

จากนั้น ภาพยนตร์ชุดได้พาเข้าไปชมในอีกหลายๆพื้นที่ของฟุกุชิมะมากขึ้น เช่น บริเวณใกล้ใจกลางของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ระเบิด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทางรัฐประกาศว่ายังยากที่จะอยู่ แต่รถยังสามารถขับผ่านไปได้ตามปกติ เพียงแค่ไม่อนุญาตให้จอดรถและลงจากรถได้เท่านั้นเอง บริเวณชายฝั่งที่สิ่งปลูกสร้างทุกอย่างล้วนแต่ราบเป็นหน้ากลองด้วยพลังของสึนามิ โซนกองผ้าใบสีเขียวสุดลูกหูลูกตา ที่ภายใต้ผ้าใบนั้นเต็มไปด้วยถุงดินที่มีค่ารังสีต่ำ เพื่อที่สักวันนึงจะได้ทำการเพาะปลูกยังที่แห่งนี้อีกครั้ง ไปจนถึงร้านอาหารซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีของทางรัฐที่จะเรียกให้ผู้คนกลับมา แต่เราก็ไม่สามารถแน่ใจว่าอาหารที่วางขายในร้านจะใช้วัตถุดิบที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีหรือเปล่า?

ร้านอาหารในจังหวัดฟุกุชิมะ ซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ว่าอาหารที่กำลังรับประทานอยู่นั้นมีสารปนเปื้อนหรือเปล่า?

จริงอยู่ที่สารกัมมันตภาพรังสีมีข้อดีเพราะสามารถใช้ผลิตพลังงานหรือใช้ในทางการแพทย์ได้ แต่อย่างไรสารพวกนี้ก็มีอันตราย ถ้าเราได้รับสารพวกนี้มากเกินไปก็สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายได้ โดยรังสีพวกนี้จะเข้าไปเปลี่ยนเซลล์ปกติให้กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้(แต่ถ้าถามว่า มันจะทำให้กลายพันธุ์จนกลายเป็น X-Men ได้หรือเปล่านั้น… เอ่อ… คงยังไม่ถึงขั้นนั้นหรอก แต่ก็อาจจะเป็นไปได้นะ) ผมเห็นว่า การท่องเที่ยวในพื้นที่ประสบภัยพิบัตินิวเคลียร์นี้มันดูไม่ปลอดภัยสักเท่าไหร่ และยิ่งไม่มีการสวมชุดป้องกันสารกัมมันตภาพรังสีด้วยนะ เลยทำให้จากช่วงแรกที่รับชมภาพยนตร์ชุดตอนนี้รู้สึกอยากไปมาก กลับกลายเป็นขอผ่านดีกว่า อย่างน้อยผมก็รู้สึกขอขอบคุณเดวิด แฟริเออร์ และทางภาพยนตร์ชุด Dark Tourist ด้วยนะครับที่พาผู้ชมมาเห็นพื้นที่อันตรายนี้แบบใกล้ชิด แต่ถ้าใครสนใจที่จะไปเยี่ยมชมจังหวัดฟุกุชิมะ ก็สามารถเดินทางไปได้นะครับ ผมไม่ได้ห้ามนะครับ ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีของชีวิตที่ได้มาเห็นซากปรักหักพังจากภัยพิบัติใกล้ๆเช่นนี้ ไปให้สุดแล้วหยุดที่คีโมเลย!


ตลอดภาพยนตร์ชุดในช่วงที่อยู่ในจังหวัดฟุกุชิมะ สามารถวัดค่ารังสีในอากาศสูงสุดได้ถึง 9.71 หน่วย ซึ่งมากกว่าเกณฑ์ที่ปลอดภัยถึง 49 เท่าด้วยกัน

เป้าหมายการเดินทางในญี่ปุ่นที่ต่อไปของเดวิด นั่นก็คือ ป่าจูไค หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ “ป่าฆ่าตัวตาย” ป่าจูไคตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของภูเขาไฟฟุจิ ซึ่งป่านี้ถือว่าเป็นสถานที่ที่มีการฆ่าตัวตายมากติดอันดับโลกเลยทีเดียว โดยทางรัฐพบร่างของผู้เสียชีวิตถึงปีละ 100 กว่าคน ถามว่าทำไมมันเยอะเช่นนี้? เพราะประเทศญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายติดอันดับต้นๆของโลก บวกกับเหตุผลอีกสองประการคือ หนึ่ง แรงกดดันจากระบบการทำงานของสังคมญี่ปุ่น ที่เรียกได้ว่าขายวิญญาณให้กับการทำงานกันเลย ทั้งการทำงานเกินเวลา แรงกดดันให้ต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และสอง ความเชื่อของชาวญี่ปุ่นตั้งแต่โบราณ ว่าความตายจะล้างความอัปยศและนำมาซึ่งเกียรติยศ หรือพูดง่ายๆว่าฉันขอตายอย่างมีเกียรติดีกว่าอยู่โดยไร้เกียรติ เลยทำให้มีพิธีเซ็ปปุกุ หรือที่เรารู้จักในชื่อฮาราคีรี โดยจะใช้ดาบสั้นคว้านท้องตัวเอง ซึ่งพิธีเซ็ปปุกุก็จะมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์และชนชั้นต่างๆ การสำเร็จโทษตนเองด้วยวิธีเช่นมีมาตั้งแต่โบราณจนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่สองเลยก็ว่าได้ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะไม่มีชนชั้นซามูไร ไม่มีสงคราม ไม่มีพิธีเซ็ปปุกุแล้ว แต่ความเชื่อเรื่องการหลีกหนีจากความอัปยศด้วยความตายก็ยังคงอยู่กับชาวญี่ปุ่นอยู่ดี

ป่าจูไคเต็มไปด้วยความลึกลับและกลิ่นอายของความตาย

และด้วยเหตุนี้เอง ป่าจูไคจึงเป็นอีกจุดหมายปลายทางหนึ่งของนักท่องเที่ยวสายมืด โดยมีโซเชียลเน็ตเวิร์คเป็นสื่อกลางคอยเย้ายวนให้นักท่องเที่ยวสายมืดจากทั่วโลกบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาที่นี่มากมาย บางคนมาเพื่อที่จะสัมผัสถึงกลิ่นอายของสถานที่ที่มีผู้คนมากมายมาทิ้งชีวิตและความอัปยศเอาไว้ ส่วนบางคนที่มีความเชื่อในสิ่งลี้ลับ ก็อาจจะมาที่นี่ เพื่อท้าพิสูจน์กับพลังงานบางอย่างที่สถิตอยู่ในป่าแห่งนี้ก็เป็นได้

โลแกน พอล หนึ่งในยูทูปเบอร์ที่เข้ามาเยี่ยมชมป่าจูไค

ป่าจูไคไม่ใช่พื้นที่หวงห้าม ทุกคนล้วนสามารถเข้าไปทำอะไรในนั้นก็ได้ แต่อย่างน้อยก็ควรอยู่ในขอบเขต เคยมีกรณีที่ยูทูปเบอร์ชื่อดังนามว่า โลแกน พอล ได้เข้าไปถ่ายวิดีโอบล็อกในป่าจูไคแห่งนี้ ซึ่งภายในวิดีโอบล็อกนี้ก็ได้ถ่ายทอดให้เห็นร่างไร้วิญญาณของผู้คนที่เข้ามาฆ่าตัวตายอย่างเปิดเผย จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและไม่ให้เกียรติผู้ตาย ดังนั้น หากใครที่เข้าไปในป่านั้นแล้วพบเจอร่างไร้วิญญาณ ให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที หรือถ้าเจอบุคคลในป่าที่มีแนวโน้มว่าจะมาฆ่าตัวตาย เบื้องต้นควรห้ามปรามการกระทำนั้น และพยายามพูดโน้มน้าวใจให้เขาเปลี่ยนความคิด ก่อนจะแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป หรือถ้าคุณตั้งใจที่จะทิ้งชีวิตของตัวเองไว้ที่นี่ ผมว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีหรอก อย่าทำอย่างนั้นเลยครับ สุดท้าย ด้วยความที่มันเป็นป่าทึบ ดังนั้นควรจะมีสกิลการเดินป่าในระดับหนึ่ง พยายามเดินทางด้วยความรอบคอบ ไม่เข้าไปลึกจนเกินไป เพราะคุณอาจจะเกิดปัญหาจนหลงทาง ออกมาไม่ได้อีก…

สำหรับการสำรวจป่าจูไคของภาพยนตร์ชุด Dark Tourist ถือว่าทำได้ดีเลยนะ เพราะนอกจากจะถ่ายทอดภาพในป่าได้สวยงามและเยือกเย็นแล้ว ยังสามารถเล่าเรื่องการฆ่าตัวตายในป่าได้ให้เห็นภาพชัดเจนโดยไม่ต้องมีภาพศพผู้ตายจริงๆ

เกาะฮาชิมะ จังหวัดนะงะซากิ

สถานที่สุดท้ายที่เดวิดเดินทางไปในทริปนี้ก็คือ เกาฮาชิมะ ซึ่งอยู่ในบริเวณจังหวังนะงะซะกิ เกาะนี้ถือกรรมสิทธิ์โดยบริษัทมิตซุบิชิโดยสมบูรณ์ในปี 1890 เพื่อทำเป็นเหมืองถ่านหิน เริ่มแรกเกาะฮาชิมะจะมีแค่เหมืองกับที่พักสำหรับเหล่าคนงานในเหมืองถ่านหิน จนค่อยๆพัฒนากลายมาเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีผู้คนอาศัยอยู่ถึง 5,000 คน พร้อมกับสาธารณูปโภคและความบันเทิงในแบบที่เมืองใหญ่มี จนกระทั่งหมดยุคของถ่านหิน และน้ำมันกลายเป็นพลังงานหลักที่คอยขับเคลื่อนประเทศแทน จึงทำให้กิจการเหมืองถ่านหินต้องปิดตัวลงไป ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเกาะ เมื่อไม่มีงาน ก็พากันทยอยออกไปจากเกาะนี้ จนไม่เหลือใครสักคน กลายเป็นพื้นที่รกร้างมาจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบันเกาะฮาชิมะได้กลายเป็นเกาะร้างที่ไร้ผู้คนไปแล้ว

ฟังดูเผินๆอาจจะไม่น่ากลัวใช่มั้ย? แต่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนที่เกาะฮาชิมะจะกลายเป็นเมืองขนาดย่อมๆ ที่แห่งนี้เคยเป็นที่ๆจักรวรรดิญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยชาวจีนและเกาหลีมาทำงานเหมืองถ่านหินที่นี่ จึงทำให้อาจจะมีพลังงานหรือวิญญาณยังคงสถิตอยู่ในเกาะแห่งนี้ ต่อมา เมื่อภาพยนตร์ Battle Royale ได้เข้ามาถ่ายทำในเกาะนี้ ทีมงานก็ได้พบกับอาถรรพ์สารพัดอย่างจนเป็นเรื่องเล่ามาถึงทุกวันนี้ แต่ปัจจุบัน เกาะฮาชิมะก็ได้มีภาพยนตร์อีกหลายเรื่องที่เข้ามาถ่ายทำที่นี่อีกเป็นจำนวนมาก เช่น Attack on Titan ฉบับคนแสดง, The Battleship Island ของเกาหลี ไปจนถึงภาพยนตร์ไทยอย่า ฮาชิมะ โปรเจกค์

ภาพยนตร์เรื่อง Battle Royale

เดวิดได้เข้าไปเยี่ยมชมเกาะฮาชิมะพร้อมกับชายชาวญี่ปุ่นสองคนที่เคยอาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้ ทั้งสองพาเดวิดและผู้ชมย้อนกลับไปยังเกาะฮาชิมะสมัยที่ยังเฟื่องฟู ผ่านความทรงจำของทั้งสอง แต่ผู้ชมทางบ้านจะได้เห็นภาพฟุตเทจของวิถีชีวิตบนเกาะฮาชิมะด้วย ซึ่งมันก็คือวิถีชีวิตคนเมืองเลย พวกเขาจ่ายตลาด เล่นเคนโด้ ชำระร่างกายในโรงอาบน้ำเหมือนกับประชากรในเกาะใหญ่ ซึ่งผมก็รู้สึกเสียดายอยู่เหมือนกันนะ ที่ภาพเหล่านั้นได้เหลือเพียงแค่ความทรงจำบนม้วนฟิล์มไปแล้ว…

ผู้คนบนเกาะฮาชิมะกำลังจ่ายตลาดเช่นปกติ

สำหรับคนที่อยากจะมาเที่ยวที่เกาะฮาชิมะ(และแน่นอนว่า ผมก็อยากไป) ทางรัฐก็ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมมาหลายปีแล้ว โดยทัวร์เกาะฮาชิมะจะสนนราคาอยู่ที่ 4,000 เยน สำหรับผู้ใหญ่ในวันธรรมดา ซึ่งถ้าใครมีโอกาสไปท่องเที่ยวในภูมิภาคคิวชู เกาะฮาชิมะก็ถือว่าเป็นอีกจุดหมายที่น่ามาเยือนเลยทีเดียวนะครับ

ถ้าถามคนนิสัยห่ามๆที่มาเยือนประเทศญี่ปุ่นมาสามครั้งอย่างผม ว่าสามสถานที่แห่งนี้ดึงดูดให้ผมอยากที่จะลองเข้าไปสัมผัสไหม? ผมบอกได้เลยว่า “ครับ” ผมดูภาพยนตร์ชุดตอนนี้จบแล้วรู้สึกอยากไปมากๆ แต่ขอเว้นจังหวัดฟุกุชิมะไว้หนึ่งที่แล้วกัน เพราะผมกลัวว่าจะมีปัญหาสุขภาพตามมาภายหลัง เอาเป็นว่าถ้าผมได้มีโอกาสไปที่ป่าจูไคและเกาะฮาชิมะเมื่อไหร่ ผมจะเอามาเล่าสู่กันฟังในภายหลังนะครับ จริงๆยังมีอีกหลายสถานที่และกิจกรรมในประเทศญี่ปุ่นทั้งที่เป็นสายมืดและไม่มืดที่ผมอยากจะลองไปสัมผัสประสบการณ์อีกหลายแห่ง และสักวันนึงผมก็ต้องไปสัมผัสมันให้ได้ และถ้าถึงวันนั้นเมื่อไหร่ เดี๋ยวผมจะมาเล่าให้ฟัง 🙂

About Pan Yoshizumi 118 Articles
นอกจากซูเปอร์ฮีโร่จะเป็นสิ่งที่ผมชื่นชอบแล้ว ผมยังชอบไอดอลสาว และการท่องโลกอีกต่างหาก....