วัฒนธรรมญี่ปุ่นร่วมสมัยในมุมมองของแฟนพันธุ์แท้มาสค์ไรเดอร์ “สมบุญ เกรียงอารีย์กุล”

นั่งค้นๆ ดูไฟล์เก่าๆ ในฮาร์ดดิสก์ ส่วนที่เป็น Documents นั้นเต็มไปด้วยเอกสารหลายอย่าง รายงานสมัยมัธยมยันมหาลัย บทความที่แบ็คอัพไว้ ไปจนถึงงานที่เขียนเล่นๆ ปะปนรวมกันเต็มไปหมด จนกระทั่งไปสะดุดตากับไฟล์ที่ชื่อว่า “Interview BOON” ซึ่งในชีวิตผมก็รู้จักแค่ BOON เดียวนั่นแหละ นั่นก็คือ “คุณสมบุญ เกรียงอารีย์กุล”

เขาถือว่าเป็นผู้หลักผู้ใหญ่คนนึงที่คร่ำหวอดอยู่กับวงการอนิเมะและโทคุบ้านเรามานาน เขาเคยเป็นทั้งนักวาดปกการ์ตูน เป็นคอลัมน์นิสท์นิตยสารการ์ตูน และอีกมากมาย หลายคนน่าจะรู้กันแหละว่าเขาเป็นแฟนพันธุ์แท้มาสค์ไรเดอร์ แต่สำหรับผม เขาเป็นมากกว่านั้น เพราะวันที่ผมไปญี่ปุ่นครั้งแรกในชีวิต ก็มีพี่บูนเนี่ยแหละคอยไกด์ไลน์เบื้องต้นให้ ตั้งแต่การขึ้นรถไฟยันหาซื้อของเล่น(โดยเฉพาะของมือสอง) จนทุกวันนี้ไปคนเดียวก็ไปได้อ่ะ เขาเป็นคนที่คุยสนุกครับ เวลาไปไหนมาไหน เขาจะชอบอธิบายความเป็นมาของสิ่งต่างๆ ให้ฟัง ได้ความรู้เยอะมาก

และบทสัมภาษณ์นี้ผมจำได้ว่าเป็นงานส่งอาจารย์ ตอนแรกเป็นวิดีโอ แต่ภายหลังขออาจารย์เอามาถอดเทปแล้วลงในเว็บ J-HERO ซึ่งตอนนั้นก็… ปี 2016 สี่ปีแล้วครับบทสัมภาษณ์นี้ แต่ด้วยความที่เขาเป็นคนคุยสนุก ชอบอธิบาย และจำได้ดีเลยว่าเขาพูดถึงหลายๆ อย่าง ตั้งแต่โทคุซัทสึไปจนถึงเรื่องอื่นๆ ในญี่ปุ่น เลยเอากลับมาให้อ่านกัน อีกอย่างคือ ตอนสัมภาษณ์เขาบอกว่า “ถ้าไม่ใช่คุณ ผมไม่ให้สัมภาษณ์ขนาดนี้นะ” (หัวเราะ) ก็เป็นความทรงจำดีๆ

**ขอย้ำก่อนว่า บทสัมภาษณ์นี้คือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว**

คุณสมบุญ เกรียอารีย์กุล

“สวัสดีครับ”
BOON : สวัสดีครับ

“แนะนำตัวหน่อยครับ”
BOON : ผมชื่อ สมบุญ เกรียงอารีย์กุล ในวงการหนังสือการ์ตูนหรืออะไร จะใช้ชื่อว่า “BOON”

“ในวงการหนังสือการ์ตูน พี่ทำอะไรบ้างครับ”
BOON : สมัยก่อน ตอนเป็นนักเรียน ก็รับเขียนปกหนังสือการ์ตูน และก็เป็นคนจัดทำหนังสือการ์ตูน ตั้งแต่ปี 1975 -1976 โดยประมาณ ก็เริ่มทำมาเรื่อยๆ รับงานโรงพิมพ์ และก็เรียนไปด้วย ผมเรียนที่วิทยาลัยช่างศิลป์ แล้วก็ไปเรียนต่อด้านจิตรกรรมที่ศิลปากร ผมเป็นคนชอบการ์ตูน บ้าการ์ตูนมาก สนใจจะทำงานพวกนี้ซะมากกว่า น่าจะเป็นคนที่บ้าแล้วรักมากๆ เราก็เลยไม่ยอมทิ้งมัน เรามองเห็นความสุขของการ์ตูน มันอยู่ในใจ ก็เลยคิดว่า เราขอรักษามันไว้ละกัน และพยายามทำงานที่เกี่ยวข้องกับการ์ตูนแทบทุกอย่าง ไม่ได้ชอบแค่การ์ตูนญี่ปุ่นหรอก การ์ตูนฝรั่งก็ชอบด้วย เพียงแต่ว่าเมืองไทยในตอนนี้ เริ่มมีการเอาพวกการ์ตูนมาใช้ในเชิงของสินค้าเยอะขึ้น ก็เลยกลายเป็นงานในช่วงหลังๆ ที่จะเอาการ์ตูนมาทำเป็นสินค้า อย่างศัพท์โฆษณาเขาจะเรียกว่า “Character Merchandise” ที่เอาการ์ตูนมาอยู่ในตัวสินค้า เพื่อเป็นแรงจูงใจสำหรับการเลือกซื้อสินค้า สังเกตว่า Packaging ของสินค้าจะมีตัวการ์ตูน เพื่อล่อตาล่อใจเด็กๆ ก็เลยกลายเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ญี่ปุ่น เขาใช้การ์ตูนทำพวกนี้เยอะมาก

ในประเทศญี่ปุ่น คาแร็คเตอร์ในวัฒนธรรมป๊อปถือว่าโด่งดังพอๆ กับเซเลบริตี้ที่เป็นคนจริงๆ เลย จนถึงกับมีการนำไปใช้ในการโปรโมทสินค้า อย่างศาลเจ้าคันดะในอากิฮาบาระ ก็จะมีโทโจ โนโซมิ หนึ่งในตัวละครจาก LoveLive! ซึ่งตามท้องเรื่องนางก็ทำงานที่ศาลเจ้าคันดะเนี่ยแหละ เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ประจำศาลเจ้า

เราไปเห็นว่าญี่ปุ่นมันมีพวกซองขนม ซองอะไรก็แล้วแต่ มีการ์ตูนเต็มไปหมด ในเมืองไทย ผู้ผลิตสินค้าเริ่มจะเห็นว่า การ์ตูนพวกนี้เริ่มเอามาใช้งานได้ ก็เลยเริ่มมีคนเอามาใช้กัน แต่ผู้ประกอบการบางส่วนอาจจะมองว่า ใช้ดารา นักแสดงดีกว่า แต่ว่าค่าตัวดาราก็แพง แต่การใช้ตัวการ์ตูน ถ้าการ์ตูนดัง มันก็ทำให้สินค้าขายง่าย เป็นที่รู้จัก อย่างคนที่ผลิตสินค้าใหม่ๆ ยังไม่มีคอนเซปต์ที่ชัดเจน เริ่มต้นก็จะเอาคาแร็คเตอร์พวกนี้ไปช่วยในการทำสินค้า ยกตัวอย่างที่ผมไปร่วมงาน น้ำกระป๋อง TOYa เป็นน้ำการป๋องที่ไม่มีใครรู้จักหรอก ถ้าไม่มีตัวไรเดอร์ใส่เข้าไป เขาก็เอาพวกคาแร็คเตอร์มาสค์ไรเดอร์ใส่ลงในกระป๋อง ด้วย Packaging ตัวกระป๋องมาสค์ไรเดอร์ คนก็เริ่มรู้จักน้ำกระป๋องยี่ห้อนี้ ทำให้เข้าสู่ตลาดการค้าง่ายขึ้น จากการที่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไรดี ผมเลยทำงานเป็นที่ปรึกษาให้เขาด้วย

และมีหลายคนเห็นว่า ผมเขียนหนังสือลงตามนิตยสารด้วย จริงๆ ผมก็จะได้ข้อมูลจากทางค่าย ว่าเรื่องนี้จะเข้าทีวีช่อง 9 จะเข้าทีวีช่องไหน เขาก็จะส่งข้อมูลมาให้ เราก็จะเขียนเรื่องพวกนี้ลงตามหนังสือ อย่างส่วนใหญ่ ก็จะเขียนลงทีวีแมกกาซีน ลงในเซนชู และก็จะพูดถึงเรื่องที่กำลังจะเข้าทีวี จุดนี้จะเป็นการสื่อสารกับเด็กเล็ก เด็กเล็กที่ไม่ได้เล่นอินเทอร์เน็ตนะ เด็กที่แบบว่าอินเทอร์เน็ตจะเป็นเรื่องไกลตัว และหนังสือมันจะเป็นตัวที่เข้าถึงตัวเด็กมากที่สุด ฉะนั้น สินค้าที่มาใช้ส่วนมากก็จะเป็นพวกขนมต่างๆ พวกนี้จะใช้สื่อหนังสือในการโฆษณากับเด็ก

“และนอกเหนือจากงานที่กล่าวมาทั้งหมด มีทำงานอื่นที่เกี่ยวกับการ์ตูนอีกไหมครับ?”
BOON : ผมทำงานมาหลายอย่าง แต่ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการวาดรูป ตั้งแต่สมัยก่อน ผมไปรับวาดภาพประกอบให้หนังสือ และตอนหลังโรงพิมพ์เห็นว่าขยันมั้ง? ก็เลยไปวาดปกหนังสือการ์ตูน พอวาดปกหนังสือการ์ตูนเสร็จ ก็ไปวาดพวกฮีโร่ พวกสงครามก็มี แต่พอยุคหลัง การ์ตูนผู้หญิง พวกสไตล์แคนดี้ เข้ามาเมืองไทย แล้วเขาก็หาคนวาดที่วาดการ์ตูนหวานๆ ตาโตๆ เขาเรียกการ์ตูนตาหวาน พอดีผมเป็นคนวาดได้หลายๆ อย่าง ก็ฝึกด้วยล่ะครับ ฝึกมากๆ ด้วย เลยได้วาดการ์ตูนผู้หญิงด้วย พอวาดการ์ตูนผู้หญิง โรงพิมพ์ชอบ ก็มีหลายโรงพิมพ์มาจ้าง หลังจากนั้น วาดการ์ตูนผู้หญิงอยู่ประมาณ 30 กว่าปีได้ วาดจนถึงจุดอิ่มตัวเหมือนกัน จนการ์ตูนผู้หญิงเริ่มมีโป๊มากขึ้น ผมก็เลยเลิก ยุคของอาจารย์ชินโจ มายุเนี่ย ที่เริ่มโป๊เริ่มอะไรเนี่ย เราว่าไม่เหมาะกับเราแล้ว เราผู้ใหญ่แล้ว ก็เลยขอหยุด โรงพิมพ์ก็ยังพิมพ์ของเขาอยู่นะแต่ผมขอหยุด

แล้วช่วงนั้นก็เริ่มมาเป็นที่ปรึกษาให้กับปลาสวรรค์ทาโร่ ที่แถมการ์ด และตอนนั้นเริ่มมีวีซีดี ดีวีดีวางขายแล้ว ก็มาทำพวกปกวีซีดี เป็น Creative Director ให้กับค่ายหนัง ออกแบบพวกสื่อโฆษณา สมัยก่อน ตอนผมเรียน ผมทำงานใหม่ๆ ผมไปทำงานด้านโฆษณาอยู่หลายปี ไปทำเพื่อไปเรียนรู้ ก็ไปรู้ระบบการคิดแบบคนโฆษณา ทั้งหาจุดขาย เขียนคำโฆษณา มี keyword มี sub head มี head อะไรแบบนี้ เพื่อเอามาทำสื่อโฆษณา และเราก็จะใช้พวกนี้มาใช้กับงานอย่างอื่น เช่น งานหนังสือ งานพวกสื่อโฆษณาของพวกหนังมาสค์ไรเดอร์ หนังอุลตร้าแมนที่ออกในเมืองไทย

“แล้วในฐานะคอลัมน์นิสต์ พี่บูนทำอะไรบ้างครับ?”
BOON : จริงๆ… ผมเขียนหนังสืออยู่สองแบบ แบบแรก คือเขียนสื่อสารกับเด็กเล็ก ก็คือเขียนอิงกับทีวี ภาษาที่ใช้ก็เป็นภาษาสำหรับเด็ก เขียนคำศัพท์ง่ายๆ สมมติ ฮีโร่ตัวนี้มีความสามารถอะไร? อุลตร้าแมนตัวนี้เก่งอย่างไร? ไรเดอร์มีอาวุธอะไร? มีรถซูเปอร์แมชชีน มันทำอะไรได้บ้าง? ผู้ร้ายเป็นใคร? ประมาณนี้ อันนั้นก็คือหนังสือเด็ก แต่หนังสือผู้ใหญ่เนี่ย เขียนให้ผู้ใหญ่อ่าน เขาจะอยากอ่านเรื่องราวในอดีตของฮีโร่ตัวนี้ เกร็ดเล็กเกร็ดย่อย เบื้องหลังการสร้าง ประมาณนี้ บางทีมันมีเกร็ดย่อยๆที่เขาอยากรู้ เราก็เขียนให้ผู้ใหญ่อ่าน เช่น ปัจจุบันดาราที่อายุมากแล้วยังมีชีวิตอยู่ไหม? แล้วก็ปัจจุบันเขาทำอะไร? อย่างบางคนก็จะสงสัย ดาราที่เล่นเป็นพระเอกมาสค์ไรเดอร์ตอนนี้แก่แล้ว เขาไปทำอะไร? บางคนเท่าที่ผมเคยพบเห็นก็ไปเปิดร้านอาหาร และมีแฟนมาสค์ไรเดอร์ตามไปหาที่ร้าน เขาก็ทำธุรกิจเล็กๆในครอบครัว เปิดร้านอาหาร ขายของ ขายของที่ระลึกประมาณนี้ อันนี้เป็นการเขียนเรื่องให้ผู้ใหญ่อ่าน ผู้ใหญ่ก็จะแบบ อ่า… มันคือความทรงจำของเขากับพระเอกคนนี้ แต่ทุกคนก็จะรู้ว่า พระเอกของเขาก็อายุมากแล้ว และก็ไม่ได้แสดงหนังพวกฮีโร่แล้ว แต่ว่าเขาก็ยังตามข่าวอยู่ หรือว่าข่าวของการที่หนังเก่าๆกลับมารีเมคใหม่ ก็จะมาเขียนในเชิงวิจารณ์ว่า รีเมคแล้วมันได้เค้าเดิมไหม? อารมณ์มันเหมือนไหม? ซึ่งบางทีเราก็จะมานั่งเขียนว่า “ไม่ได้ฟีลเดิม” “แฟนรุ่นเก่ารับไม่ได้” แต่ว่าแฟนรุ่นใหม่จะรับได้ไหม? อันนี้ก็เป็นวิธีเขียนสื่อสารกับคนที่เป็นผู้ใหญ่หน่อย

คุณสมบุญไปเยี่ยมซาซากิ ทาเคชิ ผู้เคยรับบทเป็นอิจิมอนจิ ฮายาโตะ / คาเมนไรเดอร์หมายเลข 2

“แล้วในฐานะที่ปรึกษาให้กับบริษัทต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการ์ตูน อยากจะให้พี่บูนเล่าถึงการทำงานตรงจุดนี้หน่อยครับ”
BOON : เอาเรื่องเกี่ยวกับพวกติดต่อกับพวกเจ้าของลิขสิทธิ์ที่ญี่ปุ่น เวลาเราทำงานกับทางญี่ปุ่นเนี่ย ทั้งการซื้อลิขสิทธิ์หรือการที่เราจะทำการตลาดเนี่ย เขาต้องการคนที่เข้าใจคาแร็คเตอร์ของเขา เราก็จะเป็นตัวกลางที่คอยสื่อสารกับทางญี่ปุ่นว่า เอ้อ! เอาคาแร็คเตอร์ญี่ปุ่นมานะ แต่ถ้าจะมาโปรโมทในไทยเนี่ย คนไทยจะเก็ตประมาณอย่างนี้นะ ก็อธิบายให้เขาฟัง อย่างสมมติทางญี่ปุ่นบอกว่า อุลตร้าแมนเขาต้องวางคอนเซปต์อย่างนี้ๆๆ เราอาจจะมองว่า เมืองไทยขอปรับเป็นอย่างนี้ได้ไหม? หรือการที่ทางญี่ปุ่นจัดโชว์อุลตร้าแมนที่เมืองไทย บทที่ทางญี่ปุ่นให้มาบางทีมันเป็นญี่ปุ่นเกินไป เราก็มาคุยกับเขา ไปบอกกับทางญี่ปุ่นว่า ถ้าจะให้คนไทยเข้าใจมันควรจะต้องปรับเป็นแบบนี้นะ คนไทยชอบใช้คำแบบนี้ เป็นต้น อย่างทางญี่ปุ่นเคยมาพูดคอมเมนท์ว่า เขาเคยดูรอบพรีวิวเสร็จปุ๊บ คนไทยที่ไปดูโชว์ญี่ปุ่น เด็กๆนั่งนิ่ง ไม่มีปฏิกิริยากับฮีโร่ของเขาเลย เขาไม่แฮปปี้ ดังนั้น เขาก็มาปรึกษากันว่า ทำอย่างไรให้เด็กไทยดูโชว์ญี่ปุ่นแล้วรู้สึกตื่นเต้นไปกับการแสดงโชว์ของอุลตร้าแมน ของมาสค์ไรเดอร์?

ดังนั้น พิธีกรก็ต้องคอยสื่อสารกับคนดู เราสังเกตว่าบางทีจะมี “น้องๆ ช่วยเชียร์อุลตร้าแมนหน่อย!!” ซึ่งพิธีกรก็ต้องคอยกระตุ้น แล้วคนดูก็จะไม่นิ่ง ซึ่งทางญี่ปุ่นเองเขาก็จะต้องการแบบนี้ ต้องการเอฟเฟคของเด็กที่ไปดู ให้มีความรู้สึกร่วมกับการแสดงโชว์ อันนี้สำหรับงานโชว์นะ แต่ถ้าเป็นพวกเกี่ยวกับพวกสิ่งพิมพ์ สื่อ ปกวีซีดี โปสเตอร์ สื่อโฆษณา เป็นต้น ทุกอย่างเวลาทำก็ต้องส่งปรู๊บกับทางญี่ปุ่น แล้วก็ต้องอธิบาย บางทีเขาก็ขอแก้ ถ้าเราคิดว่าเราถูก เราก็จะบอกว่า เมืองไทยจะใช้คำประมาณนี้ แบบนี้ ซึ่งอธิบายแบบนี้… ถ้าเราเป็นคนที่เข้าใจคาแร็คเตอร์ เราอธิบายเขาด้วยเหตุผลของเรา เขาก็จะยอมรับเรา เพราะเขารู้ว่าเรารู้เรื่องคาแร็คเตอร์ของเขาลึกจริง

“อยากให้เล่าตอนไปแข่งแฟนพันธุ์แท้หน่อยครับ”
BOON : จริงๆ ตอนที่ไปแข่งแฟนพันธุ์แท้มาสค์ไรเดอร์ คนที่ไปแข่งขันเนี่ย ทุกคนชอบไรเดอร์หมด แต่ว่าในรายการเนี่ย เขาต้องการคนที่ไปเล่าเรื่องของมาสค์ไรเดอร์ คือรายการมันเป็นวาไรตี้โชว์ทางทีวี เพราะฉะนั้น เขาต้องการคนที่ไปเล่าเรื่อง เล่าความรู้สึกของคนดู แล้วคนดูทางบ้านก็เข้าใจได้ด้วย ไม่ใช่ว่าเล่าแล้วเข้าใจอยู่คนเดียว เขาเรียกว่าไปถ่ายทอดอารมณ์ หนังแต่ละเรื่องอย่างมาสค์ไรเดอร์เนี่ย เวลาผมเล่า สมมติว่าผมคุยกับผู้ใหญ่เนี่ย ผมจะเรียกไอ้มดแดง แต่ถ้าคุยกับเด็กๆ ผมจะเรียกมาสค์ไรเดอร์ เพราะว่ามันคนละยุคกัน ฉะนั้น เวลาพูดถึงมดแดงเก่า รุ่นพวกโชวะ เราก็จะเรียกว่าไอ้มดแดง แต่ถ้าเป็นยุคเฮเซย์ ผมจะเรียกไรเดอร์ ผมก็จะใช้วิธีของผม ก็คือแยกคำ ตัวเก่าก็จะเรียกไอ้มดแดง มันเป็นภาษาของยุค และเวลาเล่าเนี่ย เราก็จะเล่าในส่วนที่คนเขาอยากฟัง

เรามองว่าบางทีคนอยากรู้อะไร เราก็จะเลือกส่วนที่สนุกๆมาเล่าให้ฟัง ซึ่งแฟนพันธุ์แท้เขาต้องการแบบนี้ในรายการ อยากให้มีอะไรแปลกๆ อย่างตอนที่ผมเคยไปแข่งแฟนพันธุ์แท้อุลตร้าแมน ผมก็จะเล่าให้เขาฟัง ตอนเขา Test นะ เราก็เล่าประมาณว่า ผมชอบฟังเพลงอุลตร้า ในหนังอุลตร้าแมนแต่ละยุคเนี่ย เพลงมันเปลี่ยนตามยุคสมัย ยุคแรกก็จะเป็น ใช้วงออเครสตร้าเล่น แต่พอถึงยุคของอุลตร้าแมนทาโร่เนี่ย เริ่มมีซินธิไซเซอร์เข้ามา มันก็จะทำให้ดนตรีของอุลตร้าแมนเปลี่ยนไป และพอใช้ซินธิไซเซอร์มากขึ้น ออเครสตร้าก็ลดลง ซึ่งเราดูมดแดง เขาเรียกมดแดงรุ่นแรก เพลงก็จะใช้วงออเครสตร้า วงสตริงคอมโบ ซึ่งปัจจุบัน เพลงมาสค์ไรเดอร์เริ่มมีท่อนแร็พ มีอะไรที่เรามองว่า ยุคสมัยของเพลงมันเปลี่ยนตามกาลเวลา เพลงประกอบซีรีส์มันก็เปลี่ยนตาม และเขาก็จะมองประเด็นว่า ประเด็นนี้น่าสนใจนะ ไม่ค่อยมีใครพูดถึง เขาก็จะเก็บพวกนี้มาเป็นประเด็นสำหรับใช้ในเกมโชว์ จะบอกว่าแฟนพันธุ์แท้มันก็คือเกมโชว์อย่างหนึ่ง เป็นวาไรตี้แบบหนึ่ง

เลือกซื้อหนังสือการ์ตูนอยู่นางาโน่บรอดเวย์

“การ์ตูนแอนิเมชั่นสมัยนี้ พี่รู้จักเรื่องอะไรบ้างครับ?”
BOON : โอ้โห… จริงๆก็ไม่ค่อยรู้หรอกนะ แต่ว่าตามจากพวกน้องๆ ที่เขารู้มากกว่า แล้วก็พยายามเช็คตลาด จริงๆผมจะชอบพวกการ์ตูนเด็กอ่านะ อย่างโดราเอมอน ชินจัง หรือว่ามารุโกะอะไรพวกนี้ ผมชอบพวกนี้ โคนัน ก็จะดูในตลาดว่า ตัวไหนมันเจ๋ง มันอยู่รอด คือตอนนี้ถ้าเรามองว่า ตัวไหนอยู่รอดได้ มันจะอมตะไง เช็คจากหนังโรงอย่างนี้ มันมีหนังโรงทุกปีนี่ถือว่าอมตะแล้ว อย่างโดราเอมอน ชินจัง โคนัน พวกนี้ วันพีชนี่ มีมูฟวี่ทุกปี พวกนี้อมตะแล้วญี่ปุ่นจะไม่ปล่อยให้ตายนะ ดังนั้นผมเอง ผมชอบการ์ตูนเด็กๆ และการ์ตูนเด็กๆที่ผมชอบมันยังอยู่ตลอด โคนันก็ยัง… มีคดีฆาตกรรมไปเรื่อยๆ ใครเข้าใกล้โคนันก็ต้องตายไปเรื่อยๆ

“แล้วชีวิตของพี่บูน นอกเหนือจากงานหรือการ์ตูน พี่มีชีวิตหรือความชอบอีกด้านไหมครับ?”
BOON : มีหลายด้านครับ หนังฝรั่งผมก็ดูครับ ผมเป็นแฟนการ์ตูนฝรั่ง ผมเป็นแฟน “สไปเดอร์แมน” ผมซื้อหนังสือการ์ตูนสไปเดอร์แมนตั้งแต่ยุค 1974 ผมสะสม ยังมีอยู่ ผมชอบ ผมเป็นคนชอบสไปเดอร์แมนมากกว่าซูเปอร์แมน ผมว่าสไปเดอร์แมนมันเป็นมนุษย์อ่ะ ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ มันก็ยังทำงาน ถ่ายรูป ไปส่งหนังสือพิมพ์ โดนเขากดราคาค่ารูปอะไรแบบนี้ ซึ่งมันเป็นคนอ่ะ ซูเปอร์แมนมันเป็นเทพอ่ะ มันเหาะ มันยิงแสงได้ มันทำทุกอย่าง สไปเดอร์ยังต้องเอากล้องไปซ่อน ตอนเปลี่ยนเสื้อผ้า เอาเสื้อไปซ่อนเสร็จ โดนคนจรจัดขโมยเสื้อไป กลับมาหาเสื้อไม่เจอ มันเป็นเรื่องของมนุษย์อ่ะ และมันติดดินดี อันนี้ผมชอบสไปเดอร์แมนส่วนตัวนะ อย่างอื่นผมก็มี ผมก็เชียร์ลิเวอร์พูล ดูบอลอังกฤษ ดูบาร์เซโลน่า เชียร์เมสซี่ ผมใช้ชีวิตปกติ หนังก็ดู เพลงก็ฟังปกติเหมือนกัน เพียงแต่ว่าจะเลือกหน่อย ตามวัย เพลงในยุคของเรา ฟังพวกนี้อยู่ เป็นมนุษย์ปกติครับ

“เล่าชีวิตส่วนตัว ประวัติการสมรส ครอบครัวให้ฟังพอสังเขปได้ไหมครับ?”
BOON : ด้วยความที่แบบว่าผมชอบการ์ตูน ที่บ้านผมก็จะมีหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นเยอะ ลูกผมโตมาก็ติดหนังสือญี่ปุ่นตั้งแต่เกิด ลูกก็เลยชอบญี่ปุ่นตามไปด้วย แต่ยุคมันก็เปลี่ยนครับ ลูกผมหลังๆ ก็เป็นติ่งเกาหลีนิดหน่อยเหมือนกัน ก็ตามยุคอ่ะ แต่เราก็เห็นว่าเขาก็ยังสนใจญี่ปุ่น ตอนนี้ลูกก็ทำงานอยู่ที่ญี่ปุ่น เป็นพนักงานอยู่ที่บริษัทแถวกินซ่า ขายพวกของแบรนด์เนม คือเขาก็มีชีวิตของเขาแหละ เพียงแต่ว่า เขาเองก็พูดว่า ที่เขาได้พวกญี่ปุ่น บ้าพวกญี่ปุ่นอะไรเนี่ย มันติดมาจากผมซะเยอะ เรื่องการใช้ชีวิตส่วนตัว ก็เหมือนคนปกติครับ ใช้ชีวิตปกติครับ มีเพื่อนเฮฮา มีอะไรเหมือนคน ไม่ใช่ว่าต้องแบบฮีโร่ทั้งวันทั้งคืนน่ะ เพียงแต่ว่ามันก็อยู่ในใจ มีโอกาสเราก็สนุกกับมันทุกครั้ง แต่ก็สนุก ทุกวันนี้ยังสนุก

“แล้วพี่บูนไปญี่ปุ่นบ่อยแค่ไหนครับ แล้วประทับใจอะไรที่นั่นบ้าง”
BOON : ก็ไปมาตั้งแต่ตอนทำงานใหม่ๆ คือทำงานแล้วได้ไปญี่ปุ่น ทุกครั้งที่ไป ก็จะชอบไปดูอะไรใหม่ๆ เรื่องครีเอทีฟของเขา ทุกวันนี้ที่ตามญี่ปุ่น ไม่ได้ตามฮีโร่อย่างเดียว เราตามพวกวิธีการทำงานของเขาด้วย อย่างการขายสินค้า เทคนิคการตลาด เวลาเขาคิดครีเอทีฟ ซึ่งญี่ปุ่นเองเป็นประเทศที่สู้กันทางความคิดสร้างสรรค์เลย การทำสินค้าออกมาสักตัวนึง จะขายยังไง? จะต้องมีลูกเล่นยังไง? มันต้องมีอะไรแปลกๆอ่ะ คือบางทีมันต้องไม่เหมือนเดิม

เขาบอกว่า ญี่ปุ่นจะชอบออกสินค้าแปลกๆ ที่แบบ… เราคิดไม่ถึงอ่ะ มันก็ทำออกมาขาย ซึ่งมันหาเรื่องขายทุกอย่างจนได้ ผมว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ต้องคิด ต้องครีเอทีฟเพื่อการค้า เพื่อให้วัฐจักรของธุรกิจมันหมุนไป อย่างไอเดียพวกนี้มันสามารถจะปรับใช้และเรียนรู้จากเขาได้ สามารถปรับมาใช้กับเมืองไทยได้ คนที่เรียนรู้เยอะๆ เนี่ย ก็จะเอาข้อดีของญี่ปุ่นเนี่ยมาใช้ได้ ซึ่งตรงนี้ ถ้าใครที่สนใจเรื่องในญี่ปุ่น จะเห็นว่าประเทศนี้มีสินค้าแปลกๆ จะมีวิธีการขายที่มันแบบ… จะบอกว่าพิสดารไหม? บางทีมันก็พิสดารมาก มีแบบนี้เยอะมาก มันมีการขายอย่างนี้ด้วยเหรอ? ซึ่งเราก็มอง เฮ้ย! มันขายได้ทุกอย่างจริงๆ ล่าสุดเนี่ย ผมได้เหรียญมาอันนึง เป็นเหรียญอุลตร้าแมน แล้วมีรูปภูเขาไฟฟูจิ เหรียญนี้จะออกเฉพาะคนที่ไปภูเขาฟูจิเท่านั้น ถ้าใครอยากได้ก็ต้องขึ้นฟูจิอย่างเดียว ที่อื่นไม่มีขาย หรือว่ามันฝรั่ง ที่ออกเฉพาะสนามบินคันไซอย่างเดียว ที่อื่นไม่มีขาย เพราะฉะนั้น มันจะเป็นเอ็กซ์คลูซีฟของทุกๆ ที่ ซึ่งเรามองว่า เออ… นี่มันจุดขายนะ อยากได้อันนี้ต้องไปที่นี่ เหมือนล่าสุดที่ลูกผมทำธุรกิจกับพวกของแบรนด์เนม มันมีกระเป๋ารุ่นเบาๆ เขาขายให้แค่สองใบต่อหนึ่งคนที่มาเข้าคิว ไม่ได้ขายให้เยอะกว่านั้นด้วย ซึ่งกระเป๋าก็จะลิมิเต็ดมาก คนก็จะเข้าคิวเพื่อซื้อ ไม่ใช่เดินไปซื้อเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่งั้นมันจะไม่รู้สึกว่ามันพิเศษไง ซึ่งเขาก็หากฎเกณฑ์ หรือหาวิธีการตลาด ทำให้รู้สึกว่าของของเขานี่ไม่ใช่ได้มาง่ายๆนะ และคนที่ได้ไปก็รู้สึกภูมิใจ และรู้สึกว่า มันเจ๋งนะ มันไม่เหมือนใคร มันพิเศษ แล้วที่ญี่ปุ่นก็จะชอบออกสินค้ารุ่นลิมิเต็ดออกมาล่อคน ซึ่งมันก็เป็นจุดขายว่า มันลิมิเต็ด ผลิตมาแค่ 100 ชิ้น ไม่ผลิตอีก คนที่มี 1 ใน 100 ชิ้นก็จะรู้สึกภูมิใจ

ความเอ็กซ์คลูซีฟถูกนำมาใช้กับสินค้าโทคุเช่นกัน อย่างร้าน Kamen Rider Diner ก็จะมีเมนูอาหารเครื่องดื่ม พร้อมของแถมที่สามารถหาได้จากที่นี่เท่านั้น

แต่คนที่ตามพวกนี้บ่อยๆก็จะเริ่มรู้สึกว่า ความเอ็กซ์คลูซีฟมันมีเรื่อยๆ มันเป็นการล่อให้ไปซื้อ ทุกอย่างครับ แม้แต่ของเล่น คนก็จะรู้ว่า ของเล่นมดแดง ทั้งชุดจะมีตัวลับประมาณนี้  ตัว Secret จะเป็นตัวแบบที่ 10 กล่อง จะมีตัวนี้หลงมาตัวหนึ่ง ซึ่งพอใครได้ตัวนี้มาปุ๊บ ตัวนี้จะกลายเป็นตัวหายาก อันนี้เป็นการตลาดแบบให้คนรู้สึกว่า สนุกกับการตามหา รู้สึกเหมือนเรื่องราว มันมีเรื่องคุย มันมี Story ของมัน จะบอกว่า… สำหรับคนตามสะสมมันก็โหดร้ายอ่ะ มันหาไม่ครบชุดสักที อันนี้เป็นเรื่องเหนื่อยมาก ผมก็มักจะบอกว่า ถ้าตามยากนักก็อย่าไปตามมัน มันเหนื่อยเกินไป ชีวิตมีด้านอื่นให้ทำอีกหลายๆด้าน ซึ่งผมก็พยายามสนุกกับชีวิตโดยที่ไม่ยึดติดกับมันมากนัก

คุณสมบุญขณะออกสื่อ ให้สัมภาษณ์ตามงานต่างๆ

“มองภาพตัวเองในอีก 20 ปีข้างหน้าว่าอย่างไร?”
BOON : คงอยู่ไม่ถึงตอนนั้นหรอก แต่ก็พยายามสนุกให้มากที่สุด แล้วก็คงอยู่อย่างนี้แหละ คงอยู่กับวงการอย่างนี้แหละ แต่อาจจะพยายามหาอะไรที่มันพัฒนาไปเรื่อยๆ แล้วถ้ามีโอกาสก็จะทำอะไรเพื่อสังคม บางทีเราก็จะมีน้องๆ บางทีรวมกลุ่มกันไปทำกิจกรรมเพื่อสังคม ไปช่วยเด็กๆ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่ เหมือนกับว่า ถึงจุดหนึ่งเราสามารถจะให้อะไรกับคนได้ ก็ให้คืนกับสังคม ให้โอกาสกับคนอื่น ผมเคยมองว่าบางที ทำบุญไม่เท่ากับให้โอกาสคน คนเราบางทีมันได้โอกาสขึ้นมา เขาไปต่อยอดได้ เขาอยู่ได้ เขารอดได้ มันเหมือนทำบุญ ผมจะใช้วิธีนี้ในการทำบุญมากกว่า

“แล้วมองวงการการ์ตูนของไทยในอนาคตว่าอย่างไรบ้างครับ?”
BOON : โห…. เรื่องเกี่ยวกับการ์ตูนเนี่ย… ตลาดการ์ตูนมันโตขึ้นอ่านะ มันก็ฉาบฉวยขึ้นเหมือนกัน คนที่ตามบางทีมันก็รู้สึกว่า ยกตัวอย่างมาสค์ไรเดอร์ละกัน มาสค์ไรเดอร์มันฮิตกันปีต่อปีอ่ะ พอพ้นปี พอจบซีรีส์ ตัวใหม่มา ตัวเก่าก็แทบจะทิ้งเลยก็มี ซึ่งสังเกตจากของเล่นเหมือนกัน ตอนนี้ญี่ปุ่นก็แบบ ขายเร็ว ไปเร็ว เก็บเร็วเหมือนกัน พอเขารู้ว่าคนไม่ผูกพันแล้ว อย่าง ณ เวลานี้ คงไม่ใครมาซื้อแหวนวิซาร์ดริง หรือชิฟท์คาร์ ตอนนี้เริ่มไปมองหาอายค่อนแล้ว ซึ่งมันไม่เหมือนเมื่อก่อน คือถ้าเป็นคนรุ่นก่อนเนี่ย มาสค์ไรเดอร์ 1 หรือ V3 ยังขายได้อยู่ ซึ่งปัจจุบันก็ยังขายอยู่เรื่อยๆ คือมันเหมือนมันผูกพัน มันเป็นการสะสมมานาน ตัวละครบางตัว ญี่ปุ่นเขาทำ ตอกย้ำ ทำเรื่องราวให้มันคลาสสิคไปเลย คนก็จะรู้สึกว่า ไรเดอร์ 1 นี่คลาสสิคแล้ว V3 นี่คลาสสิคแล้ว จริงๆ ฝรั่งเขาทำก่อนนะ ฝรั่งเขาทำมิคกี้เมาส์จากการ์ตูน จริงๆ มิคกี้เมาส์หน้าตาน่าเกลียดมาก หูดำๆ ใหญ่ๆ เด็กๆ เห็นก็ร้องไห้อ่ะ เพียงแต่ว่าเขาทำจนรู้สึกว่ามิคกี้เมาส์มันคลาสสิคอ่ะ คือมันมีกระบวนการ เขาเรียกสะสมทางครีเอทีฟ ใส่มันเข้าไปเรื่อยๆ จนคนรู้สึกคุ้นชิน แล้วก็มองว่ามิคกี้เมาส์สวย จริงๆ แล้วมิคกี้เมาส์ไม่สวยครับ ไรเดอร์ก็ไม่สวยครับ

“พูดปิดท้ายหน่อยครับ ขอเท่ห์ๆ”
BOON : จริงๆ ชีวิตมันมีหลายๆ ด้าน ผมเป็นคนที่ไม่ได้ชอบแต่ฮีโร่อย่างเดียว จริงๆจะบอกว่าผมชอบทุกอย่างแหละ เพียงแต่ว่าเราก็เลือกใช้ชีวิตในด้านที่มันมีความสุขและก็ไม่เดือดร้อนมากนัก ผมก็มองว่า ผมชอบฟังเพลง เพราะฉะนั้นผมก็จะเป็นคนที่ตามเพลง ฟังเพลงทุกๆอย่าง แล้วก็ถ้าเป็นเรื่องการใช้ชีวิต พยายามใช้ชีวิตค่อนข้างสมถะหน่อย ไม่ค่อยอยากได้อะไรมาก ถ้าคนเราอยากได้อะไรมากก็จะเป็นทุกข์ ตัดได้บ้างก็ดี เหมือนนักสะสมหลายคน เริ่มสโคปตัวเองให้น้อยลง เหลือไม่กี่อย่างละ ชีวิตมันก็ไม่เดือดร้อนมาก และมันก็ใช้ชีวิตและก็ชอบสนุกเหมือนกับพวกคาแร็คเตอร์การ์ตูนอย่างเป็นสุขได้

เรื่องและภาพ : pantokung

About Pan Yoshizumi 118 Articles
นอกจากซูเปอร์ฮีโร่จะเป็นสิ่งที่ผมชื่นชอบแล้ว ผมยังชอบไอดอลสาว และการท่องโลกอีกต่างหาก....