กว่าจะเป็น “เชฟกระทะเหล็ก” กับเบื้องหลังศึกการทำอาหารที่สะเทือนโลกมาเกือบ 30 ปี!

เท่าที่ผมได้ยินมา ในช่องฟูจิทีวีของประเทศญี่ปุ่น เคยมีรายการทำอาหารที่มีคอนเซปต์อันดุเดือด โดยเปิดให้ยอดเชฟจากทั่วทุกสารทิศเข้ามาประชันฝีมือการปรุงอาหารกับยอดเชฟผู้แข็งแกร่ง ที่ทางรายการคัดสรรมาแล้วว่าเป็นยอดฝีมือในอาหารศาสตร์ต่างๆ และรายการที่ผมพูดถึงอยู่ตอนนี้ก็คือ… (เปิดซาวน์อลังการ) “เชฟกระทะเหล็ก” นั่นเอง

Line-up เชฟกระทะเหล็กประจำรายการตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นไป ได้แก่ (ไล่จากซ้ายไปขวา)
ฮิโรยูกิ ซาไก เชฟกระทะเหล็กอาหารฝรั่งเศส,
มาซาฮารุ โมริโมโตะ เชฟกระทะเหล็กอาหารญี่ปุ่น
และ เชน เคนอิชิ เชฟกระทะเหล็กอาหารจีน
(ขาดมาซาฮิโกะ โกเบ เชฟกระทะเหล็กอาหารอิตาลี)

หลายคนก็น่าจะรู้จักรายการนี้กันทุกคนแหละ เพราะนี่ก็เป็นรายการญี่ปุ่นที่ดังในบ้านเราพอสมควร ฉบับดั้งเดิมแบบที่เราคุ้นเคยกันเขาเริ่มฉายมาตั้งแต่ปี 1993 และลาจอไปตั้งแต่ปี 1999 แล้ว แต่ถึงกระนั้น ความร้อนแรงของสมรภูมิที่ชื่อคิทเช่นสเตเดียมก็หาได้มอดลง เพราะเมื่อเทปรายการทั้งหมดได้ไปเผยแพร่ในดินแดนตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้ในแดนอาทิตย์อุทัย จนถึงกับต้องสร้างรายการเชฟกระทะเหล็กขึ้นอีกครั้งในฉบับอเมริกัน และฉบับของประเทศอื่นๆ ตามมา แน่นอนว่าบ้านเราก็เป็น 1 ในนั้นด้วย จึงทำให้ชื่อของรายการ “เชฟกระทะเหล็ก” หรือ “Iron Chef” แทบไม่เคยจางหายไปไหน?

แล้วภายใต้เบื้องหลังความสำเร็จขนาดนี้ จะมีดีเทลเบื้องลึกเบื้องหลังอะไรแฝงอยู่บ้าง ถ้าพร้อมแล้วก็… Allez Cuisine! เอ๊ย! ไปอ่านกันดีกว่าครับ…

คิทเช่นสเตเดียม ที่ถูกสร้างขึ้นภายในสตูดิโอของฟูจิทีวี ณ โอไดบะ มักจะมีเชฟจากทั่วทุกสารทิศตบเท้าเข้ามาแข่งขันกับเชฟกระทะเหล็กอยู่เสมอ

การวางคอนเซปต์อันแสนน่าสนใจ เสียจนดุเดือดกว่ารายการแข่งทำอาหารไหนๆ

สิ่งที่ทำให้รายการเชฟกระทะเหล็กแตกต่างจากรายการอาหารทั่วๆ ไป นั่นก็คือ การแข่งขันแบบ 1 ต่อ 1 (อ่า… เอาจริงๆ ก็ไม่ 1 ต่อ 1 หรอก เพราะต่างฝ่ายจะมีผู้ช่วยอยู่สองคน) โดยจะมีเวลาให้ 1 ชั่วโมง ทั้งสองฝั่งต้องปรุงอาหารจากวัตถุดิบหลักที่ประกาศมา 1 เซ็ตเพื่อให้คณะกรรมการชิมเพื่อวัดกันไปเลยว่าใครหมู่ใครจ่า และถึงจะมีคอนเซปต์ตั้งต้นที่โดดเด่นขนาดนี้ แต่ครีเอทีฟของรายการก็หาได้ชะล่าใจ และยังคงพัฒนาหรือเพิ่มเติมรูปแบบการแข่งขันให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น อย่างเวอร์ชั่นญี่ปุ่นดั้งเดิมก็จะมีแมทช์พิเศษต่างๆ อย่างเช่นบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปตั้งคิทเช่นสเตเดียมชั่วคราวนอกประเทศในโอกาสพิเศษ บางทีมีแจกโจทย์แค่วัตถุดิบหลักมันยังไม่พอ เพิ่มโจทย์เป็นธีมของเซ็ตอาหารเข้าไปด้วยเลยละกัน หรือเวอร์ชั่นปัจจุบันของบางประเทศก็ได้มีการเพิ่มเติมกติกาพิเศษเข้าไป เช่น ต้องเสิร์ฟอาหารจานแรกภายใน 20 นาทีของการแข่งขัน หรือจะเป็นวัตถุดิบพิเศษ ที่มักจะชอบเปิดตัวระหว่างการแข่งขัน เป็นต้น

วันดีคืนดี รายการก็มักจะจัดแมทช์พิเศษ อย่างเช่น การแข่งขันในประเทศฝรั่งเศส ที่มีกติกาพิเศษ โดยเปิดโอกาสให้เชฟผู้ท้าชิงกับเชฟกระทะเหล็กต้องออกไปสรรหาวัตถุดิบเสริมทั่วฝรั่งเศสด้วยตนเอง

นอกจากนี้ ตัวรายการยังมีการเล่าสตอรี่ เพื่อให้ผู้ชมได้อินไปกับการแข่งขันมากขึ้น ไม่ว่าจะช่วงแรกที่เกริ่นประวัติแขกรับเชิญ ว่าเป็นคนจังหวัดอะไร เริ่มล้างจานให้ร้านอาหารไหน สั่งสมประสบการณ์มาเท่าไหร่ เกียรติประวัติ บลาๆๆ หรือถ้าบางคนมีความแค้นส่วนตัวกับเชฟกระทะเหล็กคนไหน รายการก็หยิบมาขยี้ๆ จนแทบไม่ต้องแข่งทำอาหารละ หยิบมีดคนละเล่มแล้วพุ่งเข้าไปจ้วงกันดีกว่า หรือแม้กระทั่งหลังเปิดตัววัตถุดิบหลัก ก็ยังจะมีการบรรยายสรรพคุณของมันไปอีก มันมีสารอาหารอะไร หายากแค่ไหน พันธุ์ที่ดีที่สุดอยู่ภูมิภาคอะไร ปรุงยังไงให้อร่อยที่สุด จริงจังมาก… แต่เมื่อเอารูปแบบการแข่งขันและสตอรี่มาร้อยเรียงกัน ก็จะได้เป็นรายการแข่งทำอาหารอันครบรส ที่อร่อยไม่แพ้อาหารฝีมือเชฟกระทะเหล็กเลย

เชน เคนอิชิ ทายาทของต้นตำหรับอาหารจีนเสฉวนในญี่ปุ่น

จะเป็นเชฟกระทะเหล็กต้องผ่านอะไรมาบ้าง?

เชฟกระทะเหล็กในช่วงแรกๆ มาจากการคัดสรรของทีมงาน ซึ่งผมก็ไม่รู้หรอกว่าเขาใช้เกณฑ์อะไรในการคัดเลือก แต่ถ้าให้เช็คจากโปรไฟล์ของเหล่าเชฟกระทะเหล็ก ก่อนจะกลายเป็นยอดนักรบแห่งคิทเช่นสเตเดียมแล้วล่ะก็… เริ่มจาก “ฮิโรยูกิ ซาไก” ก่อนเลยละกัน นอกจากลุงเขาจะเคยไปทำงานที่ร้านอาหารในฝรั่งเศสแล้ว ยังเป็นถึงลูกศิษย์ของ “เชฟฟุจิโอะ ชิโดะ” ผู้บุกเบิกอาหารฝรั่งเศสในญี่ปุ่นอีกด้วยนะ เลยถูกแนะนำกับผู้อำนวยการสร้างให้มาเป็นเชฟกระทะเหล็กอาหารฝรั่งเศสแทนเชฟคนก่อน และในส่วนของ “เชน เคนอิชิ” ก็ใช่ย่อย เขามีศักดิ์เป็นถึงลูกชายของ “เชฟเชน เคนมิน” บิดาแห่งอาหารจีนเสฉวนในญี่ปุ่นเชียวนะ การที่เชฟเชนเข้ามาเป็นเชฟกระทะเหล็กอาหารจีนก็ถือเป็นการแบกเกียรติยศของผู้เป็นพ่อด้วยเช่นกัน มาดูกันที่เชฟกระทะเหล็กอาหารญี่ปุ่นอย่าง “มาซาฮารุ โมริโมโตะ” กันบ้าง คนนี้นี่ไม่ธรรมดา เชฟแกเริ่มต้นจากการฝึกทำซูชิและไคเซกิ(คอร์สอาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม) ก่อนจะออกไปผจญภัยทั่วสหรัฐอเมริกา เพื่อเรียนรู้ศาสตร์อาหารตะวันตก และประยุกต์เข้ากับสไตล์ตัวเองจนสามารถเปิดร้านเป็นของตัวเองที่นิวยอร์คได้สำเร็จ จะเห็นได้ว่าแต่ละคนนี่ประสบการณ์โชกโชนสมกับที่ได้รับการไว้วางใจให้เป็นเชฟกระทะเหล็กจริงๆ

บ๊อบบี้ เฟลย์ หนึ่งในเชฟผู้ท้าชิงผู้เป็นคู่ปรับตลอดกาลของเชฟโมริโมโตะในคิทเช่นสเตเดียมของญี่ปุ่น (ซ้าย) ก่อนจะกลายมาเป็นหนึ่งในเชฟกระทะเหล็กในคิทเช่นสเตเดียมของอเมริกา พร้อมกับเชฟโมริโมโตะ (ขวา)

หรือบางที เชฟที่เคยเป็นผู้ท้าชิงมาก่อน ก็มีโอกาสถูกรับเลือกให้เป็นเชฟกระทะเหล็กในภายหลังได้เช่นกัน ตัวอย่างที่เด่นที่สุดเลยก็คือ “บ๊อบบี้ เฟลย์” อดีตเชฟกระทะเหล็กของฝั่งอเมริกา ที่แต่ก่อนเคยมาแข่งในสมรภูมิของเวอร์ชั่นญี่ปุ่นหลายครั้งมาก เรียกได้ว่าเป็นคู่แค้นของเชฟโมริโมโตะเลยก็ว่าได้ และก็มีอีกคนที่ไม่พูดถึงก็กะไรอยู่ นั่นก็คือ “เชฟเอียน เฉลิมกิตติชัย” ของเราเนี่ยแหละ สมัยที่อยู่นิวยอร์ค ก็เคยไปเยือนคิทเช่นสเตเดียมของอเมริกาในฐานะผู้ท้าชิงด้วยเช่นกัน และพอกลับมาอยู่เมืองไทย บวกกับมีการซื้อลิขสิทธิ์รายการนี้เพื่อทำเวอร์ชั่นไทย เชฟเอียนจึงได้กลายมาเป็นหนึ่งในยอดนักรบแห่งคิทเช่นสเตเดียมแดนสยามเมืองยิ้มมาจนถึงปัจจุบัน

จนกระทั่งช่วงหลัง เริ่มตั้งแต่ปี 2007 หรือหลังจากที่มีรายการเชฟกระทะเหล็กอเมริกาไปแล้วสองปี ทีมงานก็ได้ผุดรายการขึ้นมาอีกรายการนึง เพื่อใช้เฟ้นหาเชฟกระทะเหล็กคนใหม่ นั่นก็คือ “The Next Iron Chef” นั่นเอง ให้ประชาชนได้เห็นศักยภาพของเชฟก่อนจะได้รับตำแหน่งแบบเน้นๆ ไปเลย

The Next Iron Chef รายการเสริมที่ถือกำเนิดขึ้นมาในเวอร์ชั่นอเมริกา เพื่อเฟ้นหาเชฟกระทะเหล็กคนใหม่

ผู้ท้าชิงที่มาแข่งต้องเตรียมตัวเตรียมใจอะไรบ้าง?

ตลอด 27 ปี ที่มีรายการนี้ ในทุกๆ ประเทศ มีเชฟผู้ท้าชิงจำนวนมากหน้าหลายตาจากทั่วสารทิศต่างพากันตบเท้าเข้ามาประลองฝีมือกับเชฟกระทะเหล็กเป็นจำนวนมาก คิดดูสิ ถ้าคุณสามารถเอาชนะเชฟกระทะเหล็กได้ ชื่อเสียงในแวดวงอาหารของคุณจะถูกตีบวกเพิ่มขึ้นมากโขเลย สำหรับใครก็ตามที่กำลังเรียนเชฟหรือทำงานล้างจานอยู่ที่ร้านอาหารไหนสักที่ ถ้าเกิดในอนาคตคุณสามารถไต่เต้าจนกลายเป็นเชฟมืออาชีพ และอยากจะเข้าไปประลองฝีมือในคิทเช่นสเตเดียมสักครั้ง คุณจะต้องทำอย่างไรบ้าง?

(บอกไว้ก่อน ข้อมูลที่กำลังจะได้อ่านต่อไปนี้ อ้างอิงจากรายการฉบับญี่ปุ่นกับอเมริกา อาจจะไม่เหมือนกับฉบับบ้านเรา 100% โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน…)

ภาพที่เราเห็นในรายการในช่วงเริ่มต้นคือ เมื่อเชฟผู้ท้าชิงเข้าสู่สนามรบ ท่านประธานก็จะเปิดตัวเชฟกระทะเหล็กให้เขาได้จิ้มว่าจะแข่งกับใคร? ถ้าเป็นคุณ คงรู้สึกตื่นเต้นจนคิดไม่ออกว่าจะแข่งกับใครดีใช่มะ? แต่ความจริงแล้ว เขาไม่ได้ตัดสินใจเลือกเชฟกันสดๆ หน้างานหรอก เชฟกระทะเหล็กที่จะต้องแข่งขันจะถูกล็อคตัวไว้ล่วงหน้าแล้ว ไม่รู้นะว่าเชฟผู้ท้าชิงเลือกเองหรือทีมงานเลือกให้ แต่มันเป็นไปไม่ได้ที่เชฟกระทะเหล็กทุกคนจะต้องมาที่กองถ่ายทุกครั้งเพื่อมาโชว์ตัวให้ผู้ท้าชิงเลือก งั้นเชฟที่ไม่ได้ถูกเลือกคงเซ็งตายเลย… อย่าลืมนะว่าเชฟกระทะเหล็กทุกคนล้วนมีงานที่ต้องทำในร้านอาหารของตัวเองเน้อ ดังนั้น ฉากเปิดตัวบรรดาเชฟกระทะเหล็ก เขาจะเอาฟุตเทจที่ถ่ายไว้ล่วงหน้าแล้ว มาผสมเข้าด้วยกัน แต่บางตอน ถ้าสตอรี่ของผู้ท้าชิงมีบอกไว้แล้วว่าอยากแข่งกับเชฟกระทะเหล็กคนไหนเป็นพิเศษ ก็ง่ายเลย ถ่ายฉากเปิดตัวใหม่แค่คนเดียวเลย…

การจับคู่ประลองจะถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าก่อนการถ่ายทำอยู่แล้ว เพื่อความสะดวกในการล็อคคิวเชฟกระทะเหล็ก แต่ปัจจุบัน ในรายการจะไม่ค่อยมีฉากให้ผู้ท้าชิงเลือกเชฟกระทะเหล็กหน้างานแล้ว อย่างของญี่ปุ่นเวอร์ชั่นใหม่ รายการจะกำหนดตัวเชฟกระทะเหล็กที่เชฟผู้ท้าชิงจะต้องแข่งให้เองเลย

แล้วถ้าการเลือกเชฟกระทะเหล็กถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าก่อนถ่ายแล้ว งั้นวัตถุดิบหลักที่เป็นโจทย์เขาก็รู้กันก่อนแล้วอ่ะดิ? อืมมมมมม… จะว่าไงดี โดยปกติ พวกเครื่องปรุงทางรายการจะมีเตรียมให้อยู่แล้ว ส่วนวัตถุดิบประกอบอื่นๆ ถ้าเป็นของฝั่งอเมริกา รายการจะมีงบให้คนละราวๆ 15,000 บาท เชฟอยากได้อะไรเพิ่ม จะกุ้งมังกรเจ็ดสี หรือข้าวโพดพันธุ์สุลต่านบรูไน ลิสท์มา ขอแค่ให้อยู่ในงบ เดี๋ยวโปรดิวเซอร์ไปซื้อให้ ส่วนวัตถุดิบหลักอ่ะเหรอ? ทั้งสองเชฟก็ต้องมานั่งเดาว่ามันจะเป็นอะไรได้บ้าง? และถ้ามันเป็นวัตถุดิบนี้ จะเอาไปปรุงยังไงได้? พูดง่ายๆ ก็คือ ไปลุ้นเอาหน้างานนั่นเอง ผมไม่รู้นะว่าแต่ละเชฟที่ไปแข่งเขามีวิธีสันนิษฐานยังไง? และเคยมีใครบ้างที่เดาประมาณแบบ… เป็นเนื้อสัตว์หมด เลยตัดสินใจไม่ซื้อเนื้อสัตว์อื่นมาเสริม พอเปิดโจทย์ปุ๊บ เป็นผัก อ้าว… ไม่มีเนื้อใช้แข่งเลย ทำไงดี?

ใช้ทุนสร้างมหาศาล แค่ค่าวัตถุดิบก็ปาไปไม่รู้เท่าไหร่แล้ว…

ทุกๆ ตอนในช่วงเริ่มการประลอง ผู้บรรยายมักจะคอยบรรยายเสมอว่า วัตถุดิบหลักที่ใช้เป็นโจทย์ในแต่ละตอนนั้นมีจำนวนเท่าไหร่? ตีมูลค่าเป็นเงินจำนวนทั้งหมดทั้งสิ้นเท่าไหร่? ซึ่งพอเราได้ยินตัวเลขแล้วก็ได้แต่โอ้โห… อะไรมันจะลงทุนขนาดนั้นวะ? และยิ่งต้องแข่งกันทุกสัปดาห์ด้วย จะหมดเงินไปเท่าไหร่วะเนี่ย?

โจทย์วัตถุดิบหลักในแต่ละครั้ง สามารถเป็นได้ทั้งของราคาแพงระยับ ไปจนถึงของที่หากินได้ง่าย โดยวัตถุดิบหลักทีมีราคาแพงที่สุดเท่าที่ใช้มาก็คือ รังนกนั่นเอง…

ถ้านับแค่ฉบับของญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม ตลอด 6 ปี หรือ 295 ตอนของรายการที่ทุกคนเห็นนั้น ทางสถานีโทรทัศน์ฟูจิทีวี ได้ลงทุนไปกับค่าวัตถุดิบไปทั้งหมดทั้งสิ้น 246 ล้านบาท! ซึ่งเป็นต้นทุนสำหรับรายการทีวีญี่ปุ่นที่สูงที่สุดในศตวรรษที่ 20 เลยก็ว่าได้ เอ้อ! ส่วนวัตถุดิบหลักในการแข่งขันที่แพงที่สุดนั่นก็คือรังนก โดยตีเป็นเงินไทยได้สูงถึง 7 หลักเลยทีเดียว บ้าไปแล้ว… แต่ก็ต้องยอมรับแหละ ว่าการลงทุนไปกับวัตถุดิบสุดเลิศหรูเสียจนชาวบ้านตาดำๆ อย่างเราไม่อาจเอาลิ้นไปเอื้อมได้ ก็ทำให้รายการนี้เต็มไปด้วยมนต์ขลังที่ไม่เหมือนกับรายการไหนเลยนะ

และรายการเชฟกระทะเหล็กจะไม่สามารถยิ่งใหญ่ขนาดนี้ได้เลย ถ้าไม่มี “ท่านประธานคางะ”

อีกหนึ่งมาสค็อตของคิทเช่นสเตเดียมที่กลายเป็นภาพจำไม่แพ้กับเชฟกระทะเหล็กเลยก็ว่าได้ สำหรับ “ทาเคชิ คางะ” มหาเศรษฐีหนุ่มใหญ่ผู้หลงใหลในการรับประทานอาหารเป็นอย่างมาก ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับการกัดพริกหวานเข้าไปทั้งผลราวกับว่ามันเป็นลูกแอปเปิ้ลของเขาได้เป็นอย่างดี และด้วย Passion ในอาหารอันแรงกล้านี้เอง ทำให้เขาได้ลงทุนสร้างคิทเช่นสเตเดียมขึ้นมา พร้อมกับสรรหาเชฟชาวญี่ปุ่นที่เรียกได้ว่าเป็นที่สุดในแต่ละสายอาหารมาประจำการณ์พร้อมตั้งฉายาว่าเชฟกระทะเหล็ก และเชื้อเชิญเชฟยอดฝีมือจากทั่วโลกให้มาประลองกันในสมรภูมิที่เหนือจินตนาการ ด้วยวัตถุดิบอันทรงคุณค่าและราคาแพงระยับ โอ้โห… Passion ต้องแรงขนาดไหนล่ะเนี่ย…

ทาเคชิ คางะ ผู้ก่อตั้งคิทเช่นสเตเดียม และรายการเชฟกระทะเหล็ก

และแม้ว่ารายการจะต้องลาจอหลังจากที่ฉายมาตลอด 6 ปี แต่เขาก็หาได้ปล่อยให้การประลองต้องสูญสิ้นไปพร้อมกับสหสวรรษเก่า ศึกการประลองของเชฟกระทะเหล็กยังคงถูกจัดขึ้นในโอกาสพิเศษต่างๆ มากมาย จนกระทั่งท่านประธานคางะได้เสียชีวิตด้วยพิษของตับปลาปักเป้า(อืม… ตายได้สมเกียรติจริงๆ) ถึงกระนั้น ก่อนจะลาโลก เขาก็ได้ฝากฝังให้ลูกหลานช่วยสืบทอดเจตนารมณ์ของเขาต่อไป และหนึ่งในลูกหลานที่ว่าก็มี “มาร์ค ดาคาลอส” (หรือที่เราชอบเรียกว่าจ๊อบซังใน John Wick) ที่ได้นำเชื้อไฟแห่งเจตนารมณ์ของท่านลุงไปก่อให้โชติช่วงอีกครั้งในดินแดนอเมริกา จนทำให้ถือกำเนิดคิทเช่นสเตเดียมและรายการเชฟกระทะเหล็กในอีกหลายๆ แห่งทั่วโลก

อ่านถึงตรงนี้แล้ว เชื่อว่าหลายคนคงรู้สึกทึ่งในตัวมหาเศรษฐีท่านนี้ซะเหลือเกิน แต่ความจริงแล้ว ท่านประธานคางะนั้นเป็นเพียงแค่ตัวละครที่ถูกสมมติขึ้นมาสำหรับสตอรี่ของรายการ เพื่ออรรถรสในการรับชมเท่านั้น และมาร์ค ดาคาลอสก็ไม่ใช่หลานจริงๆ ของเขาด้วย ทั้งหมดเป็นแค่สตอรี่ที่เมคขึ้นมาเพื่อให้เชฟกระทะเหล็กอเมริกามีเรื่องราวที่ต่อเนื่องกับของญี่ปุ่นเท่านั้น (เสริมอีกนิดนึง รายการเชฟกระทะเหล็กของบ้านเราก็ได้มีการเชื่อมโยงสตอรี่ของทางนู้นด้วยเช่นกัน โดยการเขียนบทให้ท่านประธานสันติ เศวตวิมล เป็นเพื่อนสนิทของท่านประธานคางะนั่นเอง)

ส่วนตัวจริงของมหาเศรษฐีผู้คลั่งอาหารแห่งคิทเช่นสเตเดียมนั้นเป็นนักแสดงที่ชื่อว่า “ชิเงะคัทสึ คัทสึตะ” และเขาก็ยังมีชีวิตอยู่ แต่ก็ต้องยอมรับว่าบทของท่านประธานคางะได้สร้างชื่อให้กับนักแสดงท่านนี้เป็นอย่างมาก แถมยังกลายเป็นภาพจำของคนญี่ปุ่นไปแล้ว ส่วนผลงานการแสดงอื่นๆ ที่เราคุ้นเคยกันนั้นก็มีภาพยนตร์ “Ultraman Zearth” ในบทสัตว์ประหลาดประจำเรื่อง และก็ “Death Note” ในบทของยางามิ โซอิจิโร่นั่นเอง

ยางามิ โซอิจิโร่ ในภาพยนตร์ Death Note ตอนแรกไม่คิดว่าจะเป็นคนเดียวกันกับท่านประธานคางะ…

และเพราะกระบวนการทำงานทั้งหมดที่เต็มไปด้วยความพิถีพิถันในทุกขั้นตอนนี่เอง จึงทำให้รายการเชฟกระทะเหล็กกลายเป็นหนึ่งในรายการที่เป็นตำนานของญี่ปุ่น มีการซื้อลิขสิทธิ์ไปทำในหลายประเทศ หรือแม้แต่ทางฟูจิทีวีของญี่ปุ่นก็ยังมีการขุดมาสร้างใหม่อีกครั้ง(แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม) และได้สร้างมิติใหม่ของรายการทำอาหาร ให้มีความเป็นเอนเตอร์เทนเมนท์ได้อย่างครบเครื่องจริงๆ

ขอบคุณข้อมูลจาก :
https://www.mashed.com/38874/untold-truth-iron-chef/
https://en.wikipedia.org/wiki/Iron_Chef

About Pan Yoshizumi 118 Articles
นอกจากซูเปอร์ฮีโร่จะเป็นสิ่งที่ผมชื่นชอบแล้ว ผมยังชอบไอดอลสาว และการท่องโลกอีกต่างหาก....